วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

จับปลาในฤดูว่างไข่

จับปลาในฤดูวางไข่...ผิดกฎหมาย

กรมประมง ประกาศปิดพักการจับปลาในช่วงฤดูวางไข่ พบหากมีการลักลอบและไม่เชื่อฟังถือว่าผิดกฎหมาย หากพบตาข่ายดักปลาเผาทิ้งทันที

          รายงานข่าวจากกรมประมงเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม-15 กันยายน ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงกำหนดให้เป็นฤดูปลาวางไข่ในน่านน้ำจืดทุกจังหวัด ห้ามทำประมงใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นการประมงในบ่อเลี้ยงหรือเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และยกเว้นเครื่องมือบางประเภท เช่น เบ็ดทุกชนิด เว้นแต่เบ็ดราว ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชะนาง ซึ่งมีปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำจืดไม่ให้ถูกทำลายเกินควร


          แต่ถึงประนั้นก็ยังมีผู้เห็นแก่ตัวไม่สนใจลักลอบทำประมงผิดกฎหมายกันมากมาย ซึ่งหนึ่งในแหล่งน้ำสำคัญที่พบปัญหานี้ก็คือ “เขื่อนวชิราลงกรณ” ปัญหาสำคัญคือการทำประมงในปัจจุบันไม่ใช่ทำเพื่อยังชีพ แต่เป็นธุรกิจ จับเพื่อขาย ต้องให้ได้มากๆ รวมทั้งประชากรแฝงที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การขยายพันธุ์ปลาลดลง



          ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจกรมประมงจึงมีหน้าที่สำคัญในการตรวจตราการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายเหล่านี้ ด้วยการลาดตระเวนกวาดจับตาข่าย อวน เบ็ดราว ที่กั้นขวางลำน้ำ ชาวประมงบางคนยังใช้หินหรือเหล็กถ่วงไม่ให้ทุ่นลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ เพื่อหลบสายตาเจ้าหน้าที่ด้วย แต่พื้นที่กว่า 2 แสนไร่ในเขื่อนถือว่ากว้างใหญ่มาก จึงได้มีกลุ่มจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือ นั่นคือกลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดินและมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก ที่นำเรือยนต์ลงช่วย ซึ่งแต่ละปีก็เก็บกู้ได้เป็นจำนวนมาก คาดว่าถ้านำมาต่อกันก็ได้ความยาวหลายสิบกิโลเมตร จากการเข้มงวดจริงจัง ทำให้ระยะหลังเริ่มพบแม่พันธุ์ปลามากขึ้น ทั้งปลาแดง ปลาเค้าดำ ปลากด ปลากดคัง ปลากา ปลาตะเพียน แสดงว่าการรื้อตาข่ายนั้นได้ผล แต่ก็มีชาวประมงเพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีกลุ่มทุนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง โดยบริเวณที่ยังต้องให้ความสำคัญยังเป็นห้วยซองกาเลีย ห้วยรันตี และห้วยบีคลี่



          นายศักดิ์อัมพร ศิริรัตน์ หนึ่งในกลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดิน บอกว่าหากไม่มีการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ในอนาคตคงไม่มีปลาให้ลูกหลานกินอย่างแน่นอน แม้สิ่งที่ทำลงไปจะทำให้ชาวประมงได้รับผลกระทบ ต้องซื้ออุปกรณ์หาปลาใหม่ เพราะอันที่เก็บกู้ได้จะถูกเผาทำลาย แต่ตาข่ายแต่ละปากที่เก็บกู้ จะพบปลาเล็กปลาใหญ่ติดอยู่นับร้อยตัว หรือคิดแค่แม่ปลาตัวเดียว ในท้องของมันก็หมายถึงปลาอีกนับพันนับหมื่นตัวที่จะเติบโตเป็นอาหารให้ลูกหลานของเราในอนาคต หากเราคิดอยู่แค่วันนี้ อีกไม่กี่ปีเราคงไม่มีปลาอีกต่อไป



          การเก็บกู้อุปกรณ์ประมงในฤดูปลาวางไข่เพื่อให้ปลาได้มีโอกาสออกลูกออกหลาน เพื่อเราท่านจะได้มีปลากินต่อไป และรักษาสายพันธุ์ปลาทุกๆ สายพันธุ์ให้ยังคงอยู่ ภารกิจนี้ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทำเพื่อทุกคน ชาวบ้านก็มีปลากิน ชาวประมงก็มีปลาให้หา แพท่องเที่ยวก็มีปลาใว้ให้ลูกค้า นักตกปลาก็ได้ออกทริป



          โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าถ้าไม่มีใครมาทำอะไรเลย ปลาก็ค่อยๆ หมดไป ชาวประมงจะหาปลายากขึ้น แพท่องเที่ยวก็ไม่มีปลาไว้ต้อนรับลูกค้า นักตกปลาก็ตกปลาไม่ได้ ผลกระทบที่ได้รับมากมายนัก ตาข่าย เบ็ดราว หรืออุปกรณ์จับปลาที่เราเก็บเป็นของคนที่กระทำผิดทั้งนั้น ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งชาวบ้าน ถ้าชาวประมงเหล่านั้นอยู่ในกรอบในกฎเราจะไม่ไปยุ่ง แต่ถ้าเขาทำผิดกฎหมาย ถ้าเราพบ โดนเก็บและทำลายแน่นอน



          สำหรับการเก็บกู้อุปกรณ์ทำประมงผิดกฎหมายในฤดูวางไข่ของกลุ่มคนอาสาเพื่อแผ่นดินและพันธมิตร ในเขื่อนวชิราลงกรณนี้ ทำมา 3 ปีติดต่อกันแล้ว ปีนี้จะเป็นปีที่ 4 โดยจะดำเนินการ 2 ครั้ง คือพฤษภาคมและกันยายน ซึ่งเป็นต้นและปลายฤดูวางไข่


          หากท่านใดสนใจร่วมกิจกรรม หรือต้องการสนับสนุนน้ำมัน รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ติดต่อได้ทางเครือข่ายบางนา หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก 
ที่มาข้อมูล: http://www.komchadluek.net/detail/20140331/182039.html

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ปลากระสูบ

ปลากระสูบ (อังกฤษHampala barb, Jungle perch) เป็นสกุลของปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) ใช้ชื่อสกุลว่า Hampala (/แฮม-พา-ลา/)
มีรูปร่างโดยรวม คือ มีส่วนหัวใหญ่ ปากกว้าง มุมปากยาวถึงขอบตา มีหนวดที่มุมปากบนหนึ่งคู่ มีฟันที่ลำคอสามแถว ครีบหลังมีก้านครีบแขนงแปดก้าน เกล็ดเป็นแบบขอบบางเรียบ บนลำตัวมีจุดหรือเส้นขีดสีดำเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามช่วงวัย และแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด ขนาดโตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 60-70เซนติเมตร แต่ขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 20-30 เซนติเมตร
พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เป็นปลาที่กินปลาด้วยกันขนาดเล็กเป็นอาหาร นิยมอยู่เป็นฝูง ออกล่าเหยื่อพร้อม ๆ กัน จึงเป็นที่นิยมของนักตกปลา มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า "กระสูบ" หรือ "สูบ" หรือ "สูด" ในบางท้องถิ่น[1]